“วีระพล ไชยธีรัตน์” รับผิดตาม ก.ล.ต.กล่าวโทษยืนยันบริษัทฯ สามารถเดินหน้า ธุรกิจต่อได้

             “วีระพล ไชยธีรัตน์” ยอมรับผิดไม่ระมัดระวังตามก.ล.ต.ลงโทษ แต่ยืนยัน “ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป” ไม่ได้รับผลกระทบ ย้ำตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทฯ และธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT เปิดเผยว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับอดีตกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CWT รวม 6 ราย กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและความระมัดระวัง เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายนั้น ตนเอง และคณะกรรมการของบริษัท ยอมรับการกล่าวโทษดังกล่าวจากก.ล.ต.

แต่อย่างไรก็ตามตนเองในฐานะกรรมการผู้จัดการ และหนึ่งในคณะกรรมการของบริษัทฯที่ถูกกล่าวโทษ ขอเรียนว่าหลังจากที่คณะกรรมการบริษัท อนุมัติให้บริษัทย่อยของ CWT เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทจำกัดแห่งหนึ่งซึ่งลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังผลิต 9.6 เมกะวัตต์ จากผู้ขายในมูลค่า 70 ล้านบาท โดยมีข้อตกลงในการชำระเงิน ณ วันทำสัญญา 50 ล้านบาท และเงินส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาท จะชำระเมื่อผู้ขายหุ้นได้ดำเนินการเพื่อให้ได้ใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง และดำเนินการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าชีวมวลตามข้อตกลงแล้วเสร็จ แต่ตนเอง และคณะกรรมการในเวลานั้น ได้ตัดสินใจให้ CWT ชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาท ทั้งที่ผู้ขายยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เนื่องจากตนเอง และคณะกรรมการกังวลว่าผู้ขายจะไม่สามารถดำเนินการเรื่องใบอนุญาตต่าง ๆ ได้ครบถ้วน และทันตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อCWT ที่อาจจะไม่สามารถดำเนินธุรกรรมใด ๆ ต่อโครงการดังกล่าว และทำให้เสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจของ CWT อีกด้วย

 

ดังนั้นตนเอง และคณะกรรมการในเวลานั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการชำระเงินในส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านบาท เพื่อที่ CWT จะสามารถดำเนินการเรื่องใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เอง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวตนเอง และคณะกรรมการในเวลานั้นขอยืนยันว่าได้ตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์โดยรวมของบริษัทฯ และเพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าวสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยการดำเนินการดังกล่าวถึงแม้ว่าจะผิดเงื่อนไขข้อตกลง แต่ก็ดำเนินการเพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าวได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาอย่างครบถ้วน และสามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยในปัจจุบันภาพรวมของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าว มีความคืบหน้าไปมากกว่าร้อยละ 50 และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเริ่มทดลองเดินเครื่องกำลังการผลิตได้ภายในเดือนมีนาคม 2561 และจะสามารถดำเนินการจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561ซึ่งเป็นไปตามกรอบแผนงานที่กำหนดไว้

 

*************************************